ผมเชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีความสนใจที่จะลงทุนในหุ้นอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
เพื่อที่จะซื้อส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทใหญ่ๆสักบริษัทนึง แต่แค่พอคิดว่าจะเริ่มตรงไหนดีก็ท้อแล้ว
ตัวย่อ PTT SCC CPF อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด ไหนยังจะมี PE ROE EPS อะไรอีก เลิก
เลิก เลิก…
แต่ในทางกลับกันก็อาจเคยมีความคิดที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ
อย่างไปเซ้งร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านกาแฟมาสักร้าน
ซึ่งในความรู้สึกแล้วดูมันน่าจะซับซ้อนน้อยกว่ากันเยอะ
ดูเหมือนจะเข้าใจอะไรได้ง่ายกว่า แต่ผมอยากจะบอกว่าจริงๆแล้วถ้าคุณมีทักษะที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านกาแฟไหนน่าเซ้งหรือไม่น่าเซ้ง
ทักษะที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นนั้นก็ไม่ได้ต่างกัน เผลอๆการวิเคราะห์ว่าหุ้นไหนน่าซื้อไม่น่าซื้อจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ
อย่างแรกเลยที่ทุกคนคงอยากจะรู้เวลาที่จะเข้าไปเซ้งธุรกิจและอาจจะคิดก็คือ
ถ้าขายดีแล้วเขาจะเซ้งทำไม จากประสบการณ์ของผมเองและเชื่อว่าคนอื่นคงเคยเจอมาเหมือนกัน
ถ้าถามกับผู้ให้เซ้ง 1% จะตอบว่า “ไม่มีเวลาดูแล” อีก 99% จะตอบว่า “จะไปต่างประเทศ”
คนนู้นก็ไปต่างประเทศคนนี้ก็ไปต่างประเทศจนผมเริ่มสงสัยว่า “เอประเทศไทยยังมีคนเหลืออยู่ได้ยังไงเนี่ย”
ถ้าพูดกันจริงๆ
99.9% ของเหตุผลที่เซ้งก็น่าจะเป็นเพราะว่าร้านที่ทำอยู่ขายไม่ค่อยดีนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแค่เราเริ่มต้นจะไปเซ้งก็เหนื่อยแล้ว เพราะเราต้องไป Turn
Around ธุรกิจอีก
ในทางกลับกันการที่บริษัทเข้ามาขายหุ้น (หรือส่วนความเป็นเจ้าของ)
ในตลาดหลักทรัพย์ก็เพื่อการหาทุนไปขยายกิจการ
งบดุลต่างๆก็ต้องถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นโอกาสที่บริษัทจะเอาธุกิจที่กำลังไปไม่รอดมาขายก็จะน้อยกว่า(แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย)
อีกอย่างเมื่อบริษัทขายหุ้นจำนวนที่ต้องการจะขายหมดแล้ว
หุ้นที่เหลือนั้นก็จะเป็นการขายกันเองระหว่างบุคคลทั่วไปโดยที่ทางบริษัทเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
ยกเว้นถ้าบริษัทหรือผู้บริหารจะขายหรือซื้อหุ้นเพิ่มเอง ซึ่งในกรณีนั้นก็ต้องมีการรายงานให้ทุกคนได้รู้
อย่างที่สองที่ทุกคนอยากจะรู้เวลาจะไปเซ้งร้านก็คงจะเป็นยอดขาย
หลายๆครั้งที่ผมถามผู้ให้เซ้งก็มักจะได้คำตอบที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างเช่นประกาศเซ้งร้านอยู่ที่
150,000 บาท แต่บอกว่าขายได้กำไรเดือนละ 50,000 บาท โอ้โหสามเดือนคืนทุนสุดยอดจริงๆ
รายได้ดีขนาดนี้ผมจะปล่อยเซ้งไหมเนี่ย หรือถ้าเซ้งผมก็คงจะไม่ปล่อยที่ราคานี้
แต่ถึงเขาบอกราคาที่ฟังดูสมเหตุสมผลกว่านี้มันก็ไม่มีทางที่เราจะรู้ได้ว่าจริงๆแล้วรายได้เขาอยู่ที่เท่าไหร่
จริงๆเขาอาจจะขาดทุนอยู่ทุกเดือนก็ได้
แต่ถ้าคุณสนใจหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คุณสามารถเข้าไปดูงบการเงินของบริษัทนั้นได้อย่างละเอียดถี่ยิบ
รายได้รายจ่ายเท่าไหร่ เงินมาจากไหน กำไรขาดทุนแค่ไหน โดยเป็นงบที่ผ่านการตรวจสอบมาเรียบร้อย
ถึงงบดุลจะแต่งกันได้เหมือนกัน แต่ก็น่าเชื่อถือกว่าคำบอกกล่าวปากเปล่าของผู้ที่กำลังจะเซ้งกิจการให้เรามาก
แค่นี้ก็เริ่มเห็นได้แล้วว่าจริงๆแล้ว การจะตัดสินใจว่าหุ้นตัวไหนน่าสนใจหรือไม่นั้นง่ายกว่าการตัดสินใจว่าร้านก๋วยเตี๋ยวไหนน่าเซ้งไม่น่าเซ้งตั้งเยอะ
เพราะถ้าคิดซะว่าการซื้อหุ้นก็เหมือนการเซ้งร้าน
ข้อมูลที่เราต้องใช้ในการตัดสินใจนั้นหาง่ายกว่าเยอะเลย แค่เข้าไปที่ settrade.com
ก็จะมีข้อมูลของหุ้นทั้งหมด
ถ้าเราดูที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เราก็จะรู้ว่า ณ
ราคาหุ้นตอนนี้ถ้าซื้อทั้งบริษัทจะราคาเท่าไหร่
จากนั้นเราก็สามารถไปดูได้ว่าบริษัทมีรายได้เท่าไหร่ได้กำไรเท่าไหร่และมีหนี้สินเท่าไหร่
แค่นี้เราก็พอรู้คร่าวๆแล้วว่าหุ้นบริษัทนี้น่าลงทุนรึเปล่า ถ้าบริษัทมีมูลค่าแค่ 1,000
ล้านบาท
แต่ 3 ปีที่ผ่านมากำไรปีละ 500 ล้านบาท และไม่มีหนี้สิน
แค่นี้ก็น่าจะพอดูออกแล้วว่าบริษัทนี้มีความน่าสนใจ จากนั้นเราค่อยหาข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่าการลงทุนในหุ้นดูเผินๆแล้วอาจจะดูเหมือนยากและซับซ้อนแต่จริงๆแล้วใครก็ทำได้
ข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการในการตัดสินใจมีเผยแพร่อยู่ทั่วไปเพียงแต่คุณอาจต้องขยันทำการบ้านหน่อยในการอ่านงบดุลต่างๆเพื่อหามัน
แต่เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วผมเชื่อว่าใครก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าอะไรน่าลงทุน
และเหตุผลที่คุณควรจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนในหุ้นก็คือเวลา
เวลาที่จะรอให้บริษัทที่เราลงทุนงอกเงยเหมือนต้นไม้ที่เราปลูกไว้ เพราะถ้าคุณมัวแต่รอ
พอมาถึงวันนึงคุณค้นพบว่าการซื้อหุ้นไม่ได้ยากอย่างที่คิดคุณอาจจะต้องมาพูดกับตัวเองว่า
“รู้งี้เราเริ่มไปตั้งนานแล้ว”
ปล. ข้อดีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีมากๆในการลงทุนในหุ้น ก็คือคุณไม่ต้องมาห่วงมาเครียดกับการบริหารงาน
ไม่ต้องมาปวดหัวกับพนักงาน ไม่ต้องมาปวดหัวกับลูกค้า
และเรื่องชวนเครียดอื่นๆอีกมากมาย
ขอบคุณค่ะ
ReplyDelete