ปรกติเวลาที่เราลงทุนในหุ้นของบริษัทหนึ่ง เราก็ย่อมเชื่อว่าบรรดาเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้นก็ต้องอยากให้กิจการดีและสร้างกำไรได้มากอย่างมั่นคงเพราะก็น่าจะดีกับทั้งเขาและเรา แต่ปัจจุบันความเป็นเจ้าของในหลายๆบริษัทค่อนข้างซับซ้อน บางกิจการได้มีการซอยย่อยออกมาเป็นหลายๆบริษัท บางบริษัทก็มีการตั้งบริษัทลูกออกมามากมาย บางอันอยู่ในตลาดบางอันก็ไม่ได้อยู่ และการถือหุ้นในแต่ละบริษัทบางทีก็สลับกันไปมา แล้วยิ่งหลายๆกิจการมีการทำธุรกิจร่วมกันหรือเกี่ยวข้องกันด้วยบางครั้งผลดำเนินการของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเจ้าของอาจไม่สำคัญเท่ากับผลกำไรโดยรวมของเขา
ผมขอยกตัวอย่างมาบริษัทนึงที่ผมมีหุ้นอยู่(ตอนเขียนบทความนี้)แล้วกันนะครับ ซึ่งมีชื่อว่า CSC หรือ ฝาจีบ จำกัด ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเขาทำฝาจีบที่ใช้กับขวดน้ำอัดลมขวดเบียร์ แล้วก็เริ่มทำฝาอย่างอื่นที่ใช้กับขวดน้ำดื่มต่างๆด้วย เหตุผลคร่าวๆที่ผมลงทุนในบริษัทนี้ก็เพราะว่าจริงๆแล้วเมื่อปีที่แล้วผมสนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับน้ำดื่มต่างๆเพราะผมเองก็ชอบดื่มอยู่บ่อยๆ หลังจากที่ดูธุรกิจขายน้ำต่างๆแล้ว ก็เลยเริ่มดูธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแน่นอนถ้าน้ำต่างๆขายดีฝาขวดน้ำก็น่าจะขายดีด้วย ก็เลยรู้สึกว่าตัวนี้น่าสนใจ
ถ้าลองเปิดดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่จะพบว่ามี
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด 7.57%
บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด 7.25%
บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) 2.03%
บริษัท กรีนสปอต จำกัด 1.92%
พอเห็นว่ามีบริษัทขายน้ำถึงสี่ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ ความคิดแรกของผมเลยก็คืออันนี้น่าจะเป็นข้อดีเพราว่ายังไงสี่บริษัทนี้ก็น่าจะมาซื้อฝาจากบริษัทฝาจีบ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผมตัดสินใจลงทุน
แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นข้อเสียได้เหมือนกัน เพราะถ้าจะพูดกันจริงๆแล้วถ้าผมเป็นสี่บริษัทนี้ก็คงอยากให้ฝาจีบขายฝาให้ในราคาที่ถูกที่สุดจะเท่าทุนหรือขาดทุนยังได้เลยด้วยซ้ำ
กรณีที่ 1
สมมุติต้นทุนทำฝาหนึ่งฝาเท่ากับ 1 บาท ขายให้กับ ไทยน้ำทิพย์ ที่ราคา 2 บาท ฝาจีบได้กำไร 1 บาท
ไทยน้ำทิพย์มีต้นทุนน้ำหนึ่งขวด 4 บาท บวกกับค่าฝาอีก 2 บาท ขายน้ำราคา 10 บาท ไทยน้ำทิพย์ได้กำไร 4 บาท
แต่เนื่องจากไทยน้ำทิพย์มีหุ้นฝาจีบอยู่ 7.25% จึงได้ส่วนแบ่งกำไรมาด้วย 0.0725 บาท รวมเป็น 4.0725 บาท
กรณีที่ 2
สมมุติต้นทุนทำฝาหนึ่งฝาเท่ากับ 1 บาท เหมือนเดิม แต่ขายให้กับไทยน้ำทิพย์ ที่ราคาเท่าทุนที่ 1 บาท
ไทยน้ำทิพย์มีต้นทุนน้ำหนึ่งขวด 4 บาท บวกกับค่าฝาที่เหลือ 1 บาท ขายน้ำราคา 10 บาท ไทยน้ำทิพย์ได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาท
จะเห็นได้ว่าในกรณีที่ 2 ฝาจีบได้กำไรน้อยลงแต่ไทยน้ำทิพย์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้กำไรมากขึ้น สึ่งกรณีนี้จะเหมือนกันสำหรับทั้ง 4 บริษัท ถ้ามองในแง่ร้ายสุดๆสี่บริษัทนี้อาจใช้บริษัทฝาจีบเป็นแค่โรงงานผลิตฝาราคาถูก แทนที่แต่ละบริษัทต้องลงทุนสร้างโรงงานเองก็แค่เข้ามาลงทุนในบริษัทคนละไม่กี่เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆว่าผลประโยชน์ของผู้ลงทุนในหุ้นฝาจีบกับของสี่ผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นสวนทางกัน ถึงแม้โดยรวมสี่บริษัทนี้จะมีหุ้นรวมกันแค่ 18.77% และผู้ถือหุ้นคนอื่นคงไม่ยอมให้ฝาจีบขายสินค้าให้โดยไม่ได้กำไร แต่ผมซึ่งเป็นนักลงทุนก็ไม่สบายใจนักกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์แบบนี้ และถึงอย่างน้อยผมว่าสี่บริษัทนี้ก็คงต้องได้ซื้อฝาในราคาที่ถูกเพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ย่อมรู้ข้อมูลต้นทุนอะไรทุกอย่าง
อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งว่าทำไมการดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่เราจะลงทุนและดูว่าเขามีหุ้นในกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของเราถึงสำคัญ แต่ต้องขอบอกว่าในหลายๆกรณีอาจซับซ้อนและดูความเกี่ยวข้องต่างๆยากกว่านี้มาก
ถ้าอย่างนั้นก็ต้องดูผลประกอบการที่ผ่านมาสิครับ ว่ามีความแตกต่างกันตั้งแต่
ReplyDeleteก่อนพวกน้ำดื่มมาถือหุ้นและหลังมาถือหุ้นใหญ่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
มีหุ้นในตลาดหลายตัวก็มีลักษณะแบบนี้ อย่างเช่น การบินไทยที่ถือหุ้นใหญ่ในบริการเชื้อเพลิงการบิน แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะผลประโยชนืทับซ้อนดังกล่าวเลย อันที่จริงผมว่า ด้วยลักษณะการจัดการควบคุมของกฎระเบียบต่างๆของตลท คณะกรรมการอิสระ ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่รู้เรื่องมากๆแบบแฟนพันธ์แท้ทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นยากครับ
แต่ก็เป็นความเห็นที่ดีที่ช่วยเปิดโลกทัศน์อีกมุมมองครับ ถ้าจะมีการทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ น่าจะเป็นในตอนหุ้นไขว้ไปมากับบริษัทย่อยนอกตลาดและการกินเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายต่างๆมากกว่า เพราะทำได้ไม่ยากแต่เช็คยากครับ เช่นซื้อของจากบริษัทลูกนอกตลาดในราคาที่แพงกว่าที่ควรเป็น หรือ ชาร์จงบโฆษณามากกว่าที่ควร คือแบบตอดทีละนิดแต่ทำได้ทุกไตรมาสหรือทุกปีทำนองนี้ครับ
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ
ReplyDelete