ถ้าคุณลงทุนในหุ้นคงจะเคยเห็นตัวเลขนี้ผ่านตามาบ้างเวลาดูข้อมูลของหุ้นตัวต่างๆ แต่อาจจะมีความรู้สึกว่า P/BV นั้นเป็นเหมือนลูกเมียน้อยเพราะคนส่วนใหญ่จะพูดถึงตัวเลขอีกตัวที่ชื่อคล้ายๆกันหรือ P/E นั่นเอง
แล้ว Price To Book Ratio คืออะไรล่ะ? มันก็คือราคาของบริษัทตอนนี้(คำนวนจากราคาหุ้น) เทียบกับมูลค่าทรัพย์สินของบริษัททั้งหมด (หลังจากหักหนี้แล้ว) หรือพูดง่ายๆก็คือถ้าปิดบริษัทลงตอนนี้แล้วขายของๆบริษัททั้งหมดจะได้เงินมาเท่าไหร่
สมมุติว่ามีบริษัทหนึ่งมีตึกและที่ดินมูลค่า 1,000 บาท มีเงินสดอยู่ 100 บาท และมีหนี้อยู่ 600 บาท
ถ้าปิดลงตอนนี้แล้วขายตึกก็จะได้เงิน 1,000 บาท บวกกับเงินสดที่มีอยู่ 100 บาท รวมเป็น 1,100 บาท
แต่ต้องไปจ่ายหนี้ 600 บาท ก็จะเหลือเงิน 500 บาท
เพราะฉะนั้น Book Value ของบริษัทนี้จะเท่ากับ (1000 + 100) - 600 = 500 บาท
ทีนี้สมมุติว่าบริษัทนี้มีหุ้นอยู่ทั้งหมด 100 หุ้น ราคาตอนนี้อยู่ที่หุ้นละ 10 บาท ถ้าเราจะซื้อทั้งบริษัทเราต้องใช้เงิน 100 *10 = 1000 บาท
เพราะฉะนั้น P/BV ก็เท่ากับ
ราคาของบริษัทตอนนี้ หารด้วย สินทรัพย์ของบริษัท = 1000/500 = 2
P/BV = 2
ถ้าดูจากสูตรนี้จะเห็นว่ายิ่ง P/BV ต่ำก็ยิ่งดี เพราะเหมือนกับว่าเราได้ซื้อของถูก สมมุติถ้า P/BV = 0.5 ก็เท่ากับเราจ่ายแค่ครึ่งราคาสำหรับสินทรัพย์ของบริษัทเลยนะเนี่ย สุดยอด 50% SALE!!!
แต่ในความเป็นจริงแล้ว BV หรือ Book Value นั้น เป็นเหมือนมูลค่าที่ไม่ได้เอาออกมาใช้จริงในการดำเนินธุรกิรปรกติ และคงเป็นเหตุผลที่ทำไมคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ P/E มากกว่า
ถ้าจะให้เห็นภาพลองนึกถึงห้างกลางเมืองที่ตั้งมานาน อย่างเวลาคุณเดินแถวสีลมหรือเจริญกรุงอาจจะเห็นบางห้างที่เปิดมานาน ที่ดินกลางเมืองที่ห้างตั้งอยู่นั้นตอนนี้อาจมีราคาหลายพันหรือหมื่นล้านบาท แต่ตัวห้างตอนนี้ดูโทรมและกิจการอาจจะไม่ค่อยดีนัก กำไรปีนึงอาจจะอยู่แค่หลักสิบล้านบาท
สมมุติว่าที่ดินมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท และบริษัททำกำไรได้ปีละ 100 ล้านบาท ทุกปีโดยที่กำไรไม่มีแนวโน้มว่าจะโตขึ้น
ถ้าห้างนี้เป็นบริษัทหนึ่งที่มีหุ้นซื้อขายกันอยู่ก็ไม่แปลกถ้า P/BV จะต่ำกว่า 1 เพราะถ้า P/BV เท่ากับ 1 นั่นก็หมายความว่าราคาหุ้นทั้งหมดของห้างต้องเท่ากับ 5,000 ล้านบาท แต่นักลงทุนจะยอมจ่ายถึง 5,000 ล้านบาทเพื่อกำไรเพียงแค่ 100 ล้านบาทต่อปีหรือ? ต้องรอถึง 50 ปีเพื่อคืนทุน!!!
โดยส่วนใหญ่แล้วมูลค่าทางบัญชีหรือ Book Value นั้นไม่ว่าจะเป็นที่ดินที่บริษัทตั้งอยู่ หรือ ที่ดินเปล่าที่บริษัทมี หรือเงินสดที่เก็บสะสมไว้ ตราบใดที่บริษัทไม่ได้ขายออกไปแล้วเอาออกมาแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นมันก็จะจมอยู่อย่างนั้น โดยที่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่ อาจจะเป็น 5 10 20 50 ปีก็ได้ และอีกอย่างนึงที่ต้องไม่ลืมคือราคาประเมินสินทรัพย์ต่างๆอย่างที่ดิน หรือโดยเฉพาะเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆนั้นเวลาที่จะเอาไปขายจริงๆราคาอาจจะไม่ได้อย่างที่ประเมินเอาไว้
แล้ว P/BV มีประโยชน์อะไร
ในบางครั้งนักลงทุนบางคนอาจไม่ได้หวังผลตอบแทนจากกำไรของธุรกิจในบริษัทที่เขากำลังจะไปลงทุน แต่เขาคาดว่า Book Value ของบริษัทนั้นกำลังจะได้ถูกนำออกมาใช้
เอาตัวอย่างห้างที่พูดกันมาแล้ว สมมุติว่าหุ้นทั้งหมดของห้างนั้นขายอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท เท่ากับว่า P/BV = 2500/5000 = 0.5
นักลงทุนอาจจะคิดว่าบริษัทกำลังจะปิดห้างแล้วขายที่ๆมีค่าถึง 5,000 ล้านบาทออกไป หรือที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าก็คือมีอีกบริษัทนึงเข้ามา takeover เพราะเขาก็เห็นอยู่ว่าถ้าซื้อมาเสร็จแล้วปิดห้างและขายที่เขาก็จะได้กำไร ซึ่งโดยปรกติบริษัทที่เข้ามา takeover ก็จะให้ราคาหุ้นสูงกว่าที่อยู่ในกระดานประมาณนึง อาจจะให้ 3,500 ล้านบาทซึ่งนักลงทุนก็จะได้กำไรถ้าเข้ามาซื้อหุ้นรอไว้ก่อน
P/BV สูงๆจะไม่ดีรึเปล่า?
ข้อดีอย่างนึงของการมี P/BV ต่ำๆก็คือความ "อุ่นใจ" คือถ้าธุรกิจดูจะไปไม่ค่อยรอดอย่างน้อยบริษัทก็ยังมีสินทรัพย์ที่มีค่าเหลืออยู่ พูดง่ายๆคือเราอาจจะไม่เจ๊งมาก (ซึ่งจริงๆแล้วถ้าธุรกิจขาดทุนอยู่ ไม่นานหนี้สินที่ก่อขึ้นก็อาจกลืนทรัพย์สินที่มีอยู่ได้)
แต่บริษัทที่มี P/BV สูงๆก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นบริษัทที่ราคาหุ้น "แพง" เพราะบางธุรกิจสามารถสร้างกำไรสูงจากสินทรัพย์น้อยๆได้
อย่างธุรกิจการทำ website หลายๆอันใช้สินทรัพย์น้อยมาก อย่างหลายๆ website เล็กๆใช้แค่ computer ไม่กี่เครื่องราคารวมกันไม่ถึง 100,000 บาท แต่ปีๆนึง website ของเขาทำกำไรได้เป็นหลัก 1,000,000 บาท
สมมุติว่าเขาเป็นบริษัทที่มีหุ้นทั้งหมดขายอยู่ที่ 500,000 บาท
P/BV = 500000/100000 = 5 จะถือว่าแพงไหม?
ลงทุนแค่ 500,000 บาท แต่ได้กำไรปีนึง 1,000,000 บาท ผมว่าไม่แพงนะ
ถ้าจะให้ผมลงทุนในห้างที่ P/BV = 1 แต่ต้องรอหลายสิบปีกว่าจะคืนทุน กับลงทุนใน website ที่ P/BV = 5 แต่ปีนึงได้เงินคืนสองเท่า ผมขอ P/BV = 5 ดีกว่า
นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนดูจะให้ความสำคัญกับตัว P/E มากกว่า
No comments:
Post a Comment